อาการที่เกิดขึ้นจากการเลิกสูบบุหรี่
เมื่อเลิกสูบบุหรี่ ระดับนิโคตินในกระแสเลือดจะลดลง ก่อให้เกิดอาการขาดสารนิโคตินคือ วิตกกังวล (Anxiety) โกรธง่าย (Anger) หงุดหงิด (Irritability) อารมณ์หลุดง่าย (Impatience) และกระสับกระส่าย (Restlessness) ซึ่งอาการจะมากใน 2-3 วัน จากนั้นอาการจะบรรเทาลง
จิตใจของคุณจะเริ่มกลับมาควบคุมสารเคมีกว่า 200 ชนิดในสมองที่นิโคตินในบุหรี่ควบคุมมาในระยะที่คุณสูบบุหรี่ ได้แก่ อะดรีนะลีน โดปามีน และเซโรโตนิน ซึ่งการที่คุณต้องกลับมาควบคุมสมองตนเองนี้ทำให้ต้องมีการปรับในเรื่องอารมณ์ รางวัล การกระตุ้น และความวิตกกังวลใจ ในความพยายามที่จะปกป้องจิตใจของคุณจากสารพิษนิโคติน สมองต้องมีการปรับเปลี่ยนวงจรความคิดต่างๆมากมาย
ภายในระยะเวลาเพียง 72 ชั่วโมง หากคุณไม่สูบบุหรี่และไม่ได้รับควันบุหรี่มือสองเลย อาการต่างๆ ที่สมองกลับมาควบคุมตนเองจะเริ่มปรับตัว นิโคตินหมดไปจากร่างกาย ออกซิเจนกลับเข้าสู่ระดับปกติ แต่ยังต้องใช้เวลาประมาณ 10 14 วัน ที่อาการไม่สุขสบายต่างๆ จะลดลงเกือบปกติหรือหมดไป
การสูดหายใจเข้าออกลึกๆ การผ่อนคลายจิตใจ (mind relaxation) ร่วมกับการออกกำลังกาย จะช่วยให้การปรับตัวได้ดี อาการหงุดหงิดกระวนกระวายใจหายไปเร็วขึ้น การดื่มกาแฟเท่าเดิมหรือดื่มน้อยลง ร่วมกับการลดน้ำตาลลง ก็จะช่วยทำให้อาการลดลงได้เร็ว ผลไม้หรือน้ำผลไม้รสเปรี้ยว จะช่วยขับสารนิโคตินออกจากกระแสเลือดได้เร็วขึ้น และทำให้ร่างกายฟื้นตัวได้เร็วขึ้นกว่า 72 ชั่วโมง
มาร์เซีย เอม วอร์ด ( Marcia M. Ward) ได้ศึกษาผลกระทบจากการเลิกสูบบุหรี่ ชื่อเรื่อง "อาการที่เกิดขึ้นจากการเลิกสูบบุหรี่ในระยะ 1 เดือนแรก รายงานโดยคนที่กำลังเลิกสูบบุหรี่ พบว่า
ระดับความวิตกกังวล (Anxiety) สูงสุดในวันแรก (ภายใน 24 ชั่วโมง) และภายใน 2 สัปดาห์ลดลงเกือบเท่าระดับก่อนลงมือเลิก
ความหงุดหงิด (Irritability) จะสูงสุดที่ 48 ชั่วโมง กระสับกระส่าย (Restlessness) สูงสุดที่ 72 ชั่วโมง และทั้งสองอย่าง จะลดลงเท่าระดับก่อนเลิกสูบบุหรี่ภายใน 2 สัปดาห์
ความโกรธง่าย (Anger) จะสูงสุดหลังเลิกสูบบุหรี่ประมาณ 48 ชั่วโมง (วันที่ 2) และภายใน 72 ชั่วโมงจะลดลงเท่ากับระยะก่อนเลิกสูบ
วิธีหลีกเลี่ยงอารมณ์ที่จะทำร้ายจิตใจของคนที่คุณรัก ผู้ร่วมงาน หรือคนในครอบครัว คือการเดินหรือวิ่ง ทุบตีหมอน ชกกระสอบทราย หรือออกกำลังทำกิจกรรมต่างๆ หรือเม้มปาก กัดฟัน อดทนไม่กี่ชั่วโมง (น้อยกว่า 72 ชั่วโมง) คุณก็จะรู้สึกดีขึ้น
การพูดคุยหากำลังใจ และบอกอารมณ์ ความรู้สึก กับคนในครอบครัว หรือเพื่อน ขณะเลิกสูบบุหรี่จะช่วยได้ การเขียนจดหมายถึงตัวเองบอกเล่าอาการต่างๆ ที่เกิดกับคุณ ความรู้สึก อารมณ์ เล่ารายละเอียดไว้อ่านเมื่อครบ 1 ปีที่เลิกสูบบุหรี่ได้ คุณจะภูมิใจในความสำเร็จอย่างนึกไม่ถึง การเขียนทุกวันจะเป็นกำลังใจให้คุณสู้เพื่อชัยชนะในวันต่อๆ ไป จนสุดท้าย เลิกได้สำเร็จ
ทำตัวให้ไม่ว่าง หาสิ่งที่มีประโยชน์ทำ ออกกำลังกาย กีฬา งานอดิเรก แต่ละชั่วโมงที่ผ่านไปคือชัยชนะของคุณ มองโลกแง่ดีไว้ และจำเหตุผล / แรงจูงใจ ที่ทำให้คุณลงมือเลิกสูบบุหรี่ สลัดความคิดแง่ร้ายออกไป อย่าปล่อยให้ความรู้สึกนึกคิดที่จะทำให้คุณกลับไปสูบอีกมาทำลายความตั้งใจ และสิ่งดีๆที่กำลังเกิดกับคุณ กล้าที่จะสู้เพื่อให้หลุดพ้นจากการเป็นทาสบุหรี่มาหลายปี จงเป็นนายของตัวเองให้ได้
Marcia M. Ward.Self-reported abstinence effects in the first month after smoking cessation. Addictive Behaviors, 26 (2001) pp. 311-327.
ข้อคิดเห็น : ทั้งหมดเป็นบทความที่นำไปใช้ได้ทั้งกับคนสูบบุหรี่และคนใกล้ชิด
ที่มา : มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่
วันที่: Thu Dec 26 18:11:30 ICT 2024
|
|
|